ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รวบสาวแสบ โพสต์รับทำใบรับรองแพทย์ปลอม อ้างชื่อหมอ-โลโก้โรงพยาบาลดัง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.)ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., พ.ต.อ.ทองศูนย์ อุ่นวงค์, พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย, พ.ต.อ.กฤษฎาพร ปานโปร่ง, พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์, พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รอง ผบก.ปอท., พ.ต.อ.ภานุภัท กิตติพันธ์ ผกก.1 บก.ปอท., พ.ต.ท.ภัททสักก์ ธนสุกาญจน์, พ.ต.ท.เอกพล แสงอรุณ รอง ผกก.1 บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมประกอบด้วย พ.ต.ท.เอกคณิต เนตรทอง, พ.ต.ต.หญิง หทัยชนก อินทรวิจิตร, ว่าที่ พ.ต.ต.กษิดิศ ดิลกคุณานันท์ สว.กก.1 บก.ปอท., ร.ต.อ.ทัศพงษ์ ผ่องใส, ร.ต.อ.ปฏิญญา สงวนศักดิ์เกษร, ร.ต.อ.วิฑิตพงษ์ ราชู รอง สว.กก.1 บก.ปอท., ด.ต.พีรวุฒิ โชติช่วง, ด.ต.ภานุวัติ เปี้ยนสีทอง, ด.ต.เอกชัย บุญบุตร, ด.ต.หญิง อภิลักษณ์ รัตนิยะ, จ.ส.ต.เจตธัช มหินทรเทพ, จ.ส.ต.กฤติเดช หอละเอียด ผบ.หมู่ กก.1 บก.ปอท. ร่วมกันจับกุม นางสาวสุทธิดาฯ อายุ 22 ปี ในความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) วรรคท้าย (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2560) พฤติการณ์ สืบเนื่องจาก ผู้เสียหายเข้าแจ้งความถูกแอบอ้างชื่อแพทย์และตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลในเครือ โดยคนร้ายหลอกลวงประชาชนผ่านบัญชีโซเชียลมีเดีย X อ้างสามารถออกใบรับรองแพทย์ได้โดยไม่ต้องพบหมอ แค่โอนเงิน ก็รอรับไฟล์ใบรับรองแพทย์ได้เลย ทำให้ได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปอท.ได้ดำเนินการสืบสวนและแกะรอยทางออนไลน์อย่างใกล้ชิด โดยพบว่าผู้ต้องหาใช้บัญชีโซเชียลมีเดีย X โพสต์ข้อความเชิญชวนอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนบภาพตัวอย่างใบรับรองแพทย์ปลอมที่จัดทำขึ้นเอง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและหลอกล่อให้ผู้ที่สนใจติดต่อเข้ามา เมื่อมีผู้หลงเชื่อติดต่อผ่านบัญชี X หรือแอปพลิเคชันไลน์ตามที่ระบุไว้ คนร้ายจะดำเนินการพูดคุย และเสนอใบรับรองแพทย์ในราคาตกลงกัน โดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์จริง จากนั้นจะให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ระบุไว้ ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าบัญชีไลน์และบัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนเงิน มีความเชื่อมโยงกับตัวผู้ต้องหาอย่างชัดเจน และยังพบหลักฐานการรับโอนเงินจากผู้เสียหายหลายราย เจ้าหน้าที่จึงได้เฝ้าติดตามพฤติกรรมของผู้ต้องหาอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การระบุตัวตน และจับกุม ตามหมายศาลอาญาที่ 2843/2568 ลง 19 พฤษภาคม 2568 จากการตรวจค้น เจ้าหน้าที่พบพยานหลักฐานสำคัญเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่งผู้ต้องหาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการจัดทำใบรับรองแพทย์ปลอม โดยมีการนำ โลโก้ของโรงพยาบาลชื่อดัง และ ชื่อแพทย์จริง มาตัดต่อใส่ในเอกสาร ผ่านโปรแกรมตกแต่งไฟล์ในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือใบรับรองแพทย์ปลอมดังกล่าวถูกจัดทำ ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ และส่งกลับให้ผู้ติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อใช้ในการอ้างสิทธิ์ต่างๆ เช่น การลางาน โดยไม่ต้องผ่านการตรวจร่างกายหรือพบแพทย์จริงแต่อย่างใด ถือเป็นการปลอมแปลงเอกสารอย่างแนบเนียน และ สร้างความเสียหายทั้งต่อประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นวงกว้าง โดยจาหน้าที่นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท.ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สอบถามคำให้การเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ช่องทางสอบถามเพิ่มเติม ว่าที่ พ.ต.ต.กษิดิศ ดิลกคุณานันท์ สว.กก.1 บก.ปอท. โทร 0954415571 ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ยังคงมีข้อห่วงใย และขอเน้นย้ำประชาชนว่า อย่าหลงเชื่อบัญชีโซเชียลมีเดียที่มีการโฆษณารับออกใบรับรองแพทย์ด่วน เนื่องจากใบรับรองเหล่านี้ ไม่ได้ออกโดยแพทย์จริงหรือโรงพยาบาลใดๆ ซึ่งไม่เพียงเสี่ยงต่อการถูกหลอกโอนเงินโดยไม่ได้รับเอกสาร แต่ยังอาจนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ติดต่อไปใช้ในทางมิชอบ อีกด้วย ที่สำคัญ ผู้ที่นำใบรับรองปลอมไปใช้ เช่น การลางาน ลาพัก หรือยื่นต่อหน่วยงานต่างๆ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ฐานใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ซึ่งมีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี และหากผู้ใช้บริการรู้ว่าผู้ให้บริการไม่ใช่แพทย์จริง หรือไม่มีสถานพยาบาลรองรับ ก็เข้าข่าย รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด นอกจากนี้ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอแนะนำประชาชนให้ระมัดระวัง และตรวจสอบทุกครั้งว่าเอกสารสำคัญโดยเฉพาะ ใบรับรองแพทย์ ต้องออกโดยสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากจำเป็นต้องใช้ใบรับรอง ควรเข้าพบแพทย์และขอเอกสารจากโรงพยาบาลโดยตรง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อบัญชีธนาคารหรือบัญชีโซเชียลมีเดีย ที่ใช้ภาพโรงพยาบาล โลโก้ หรือชื่อบุคลากรทางการแพทย์ โดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะอาจเป็นการแอบอ้างเพื่อก่ออาชญากรรม ซึ่งนอกจากจะสูญเสียทรัพย์สินแล้ว ยังอาจมีส่วนร่วมในความผิดโดยไม่รู้ตัว “การเผยแพร่ข่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชน ให้รู้เท่าทันภัยอันตรายรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้เป็นวงกว้าง ทั้งนี้ ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้น สำหรับการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชน ขอให้พิจารณาถึงประโยชน์และสิทธิของผู้ต้องหาข้างต้น”



