เจาะใจ“กฤษฎา อินทามระ เจ้าของฉายา”ทนายปราบโกง“ วานนี้(9 ก.ค.67) ย่านบางนา-ตราด กม.6 สมุทรปราการ ผู้สื่อข่าวติดต่อนัดสัมภาษณ์นายกฤษฎา อินทามระ ผู้ที่ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่าเป็น”ทนายปราบโกง” นายกฤษฎา เล่าประวัติส่วนตัวว่า เกิดเมื่อ 12 พ.ย.2502 เป็นลูกหลานตำรวจมีคุณปู่ชื่อ พลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ เป็นต้นตระกูลอินทามระ ได้รับพระราชทานนามสกุลจาก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คุณพ่อ พ.ต.อ.เฉลิม อินทามระ ตนเป็นบุตรชายคนที่ 6 ได้สมรสกับนางเยาวลักษญ์ มีบุตรสาวด้วยกันหนึ่งคน การศึกษา จบ ม.ศ.5 จาก โรงเรียนเทพศิรินทร์ ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตรามคำแหง และเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 36 ปีการศึกษา 2626 คุณพ่อไม่ยอมให้เป็นตำรวจ ครั้นจะสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ ก็ต้องมีประสบการณ์เป็นนิติกร 6 เดือนหรือว่าความคดีแพ่ง 10 คดี อาญา 10 คดี จึงหันไปเป็นทนาย ฝึกหัดที่สำนักงานผ่านฟ้าทนายความ เป็นทนายความมาตั้งแต่ปี 2527 คดีแรกที่ทำเป็นคดีเช็ค เพราะยุคนั้นเช็คเด้งเต็มไปหมด ว่าความเรื่อยมาจนมีโอกาสได้มาต่อสู้ทำคดีให้กับวงศ์ตระกูลในเรื่องชื่อซอย“อินทามระ” ย้อนไปสมัยคุณปู่ พล.ต.ท. โต๊ะ อินทามระ เจ้ากองคลังกรมตำรวจ ผู้บุกเบิกที่จัดสรรกรมตำรวจ มีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ (ข้อมูล : สำนักข่าวอิศรา) “พลตำรวจโทโต๊ะเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาที่ดินบริเวณสุทธิสารและสะพานควายให้เป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการตำรวจซึ่งสำเร็จตามนโยบายของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ต่อมาพลตำรวจเอก เผ่า ได้ขออนุญาตนำนามสกุลอินทามระของพลตำรวจโทโต๊ะ มาตั้งเป็นชื่อถนน” ก่อนที่จะมีถนนสุทธิสารวินิจฉัย กรมตำรวจได้มีโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อข้าราชการตำรวจ แต่เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการ เพื่อความคล่องตัว พลตำรวจโทโต๊ะ อินทามระ หัวหน้ากองคลัง กรมตำรวจขณะนั้นจึงเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งที่ดินจัดสรรของกรมตำรวจในขณะนั้นไม่มีเส้นทางสู่ถนนสาธารณะ ที่ดินด้านทิศตะวันออกยังไม่มีถนนวิภาวดีรังสิต ส่วนที่ดินด้านทิศตะวันตกติดที่ดินของพระสุทธิสารวินิจฉัย พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นจึงได้เจรจากับศาสตราจารย์มารุต บุญนาค ทายาทผู้เป็นบุตร ขอซื้อที่ดินเพื่อเป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน บุตรทั้งสามได้ตกลงยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะเพื่อเป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน โดยขอให้ใช้ชื่อว่าถนนสุทธิสารวินิจฉัย ซึ่งเป็นราชทินนามของอดีตผู้พิพากษาผู้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เพื่อเป็นอนุสรณ์ มติที่ประชุม อ.ก.พ. กรมตำรวจปี 2503 จึงเห็นควรเป็นชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตอนตั้งแต่ถนนพหลโยธินเข้าไป 500 เมตร และตอนต่อไปให้ใช้ชื่อถนนอินทามระ“ https://www.isranews.org/content-page/item/58321-indamara-road27.html ทนายกฤษฎา “ปี 2548 กทม.มีนโยบาย จัดระบบเลขบ้าน เปลี่ยนชื่อซอยให้ตรงกับชื่อถนนเพื่อที่จะได้เป็นหลักสากล จึงได้ใช้วิชากฏหมายฟ้องศาลปกครองจนทำให้ชื่อซอยยังคงเป็นอินทามระ อยู่จนปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้มีจำนวน 59 ซอย ใช้ชื่ออินทามระ ทั้งหมด” ตรงนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์แรกที่ตนได้ต่อสู้กับอำนาจรัฐ เหมือนฟ้าลิขิตมาให้ตนทำงานนี้สร้างชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูลทำให้ใครๆก็รู้จักนามสกุล“อินทามระ” ปี 54-55 ตนจึงยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครองกลางให้เปลี่ยนชื่อถนนมาเป็นชื่อเดียวกับชื่อซอยอินทามระแต่ศาลยกฟ้อง จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กทม.ไปพิจารณาตั้งชื่อถนนทั้งสองสายให้เป็นไปตามประวัติความเป็นมาแต่สุดท้ายก็ยังไม่เปลี่ยนชื่อเป็นถนนอินทามระ แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนรู้จักชื่อเสียงของอินทามระไปทั่วประเทศ หลังจากนั้นก็รู้สึกฮึกเหิมที่สามารถต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมกับประชาชนถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว ปี 53 ได้ก็มารู้จักผู้ใช้แรงงานพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้ไปช่วยว่าความในคดีที่พวกเขาถูกการท่าเรือฯเบี้ยวค่าล่วงเวลาโดยไม่จ่ายให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานและสามารถชนะคดีทำให้การท่าเรือฯต้องจ่ายเงินย้อนหลังให้พนักงานรวม 300 กว่าล้านบาท จนทำให้ผู้บริหารการท่าเรือฯใช้วิธีไปร้อง ดีเอสไอ ให้รับเป็นคดีพิเศษเมื่อปี 57 ต่อสู้คดีพิเศษกันเรื่อยมาจากจำนวนผู้ต้องหา 560 คน สุดท้าย ปี 66 ดีเอสไอ สั่งฟ้องได้เพียง 34 คน ส่งคดีให้อัยการแต่เวลาผ่านไปปีครึ่งอัยการก็ยังมิคำสั่งใดๆโดยเลื่อนคดีตลอดทำให้มหากาพย์เงินค่าล่วงเวลาการท่าเรือฯยังไม่ถึงบทสรุปแม้จะเดินมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว จากคดีแรงงานกลายมาเป็นคดีอาญาที่ผู้บริหารการท่าเรือยืมมือดีเอสไอใช้อำนาจรัฐมารังแกประชาชนทำให้ตนต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ จึงต้องไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารการท่าเรือความผิดตามมาตรา 157 เรื่องพิจารณาอยู่ที่ ป.ป.ช. คดีนี้ต้องมีคนติดคุกอย่างแน่นอน ซึ่งตนไม่ได้หวังเปอร์เซ็นต์ค่าทำคดีเพียงอยากช่วยคนที่ถูกรังแกรู้สึกสงสารเพราะเห็นบางคนต้องนั่งรถวีลแชร์มาเรียกร้องเงินเยียวยา และหลายคนก็ล้มหายตายจากไปจึงบอกพวกเขาว่าขอให้ใจเย็นๆรอฟังผลการพิจารณาของ ป.ป.ช.ก่อน จากคดีค่าล่วงเวลาการท่าเรือก็ทำให้ประชาชนรู้จักชื่อเสียงของตนจนสื่อมวลชนเรียกว่า “ทนายดัง” ต่อมาปี 65 มีพ่อค้าแม่ค้าในโคราชเห็นการทำงานของตนแล้วประทับใจจึงได้ปรึกษาหารือว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้งเดือดร้อนเรื่องตลาดนัดชุมชนตนจึงลงไปช่วย และยังมีเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐรังแกประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา เวลาที่ตนลงไปทำคดีต่างๆสื่อมวลชนก็จะจับตามองดูว่าตนทำคดีเหล่านี้เพื่ออะไร หิวแสงหรือเปล่า ? ทำเพื่อตัวเองหรือเปล่า ? ลงไปตีกินหรือเปล่า ? สุดท้ายก็เป็นที่ประจักษ์ของเหล่าสื่อมวลชนว่าตนลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อสู้กับอำนาจรัฐจริงๆ จึงขนาน นามตนว่าเป็น”ทนายปราบโกง“ ซึ่งตนก็รู้สึกภูมิใจในฉายาที่สื่อฯตั้งให้ มันตรงกับความรู้สึกในใจ เมื่อกลางปีที่แล้ว ได้มีโอกาสลงไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาที่ถูกโรงงานแป้งมันใช้พื้นที่ดินใกล้เคียงปล่อยน้ำเสีย โดยไม่ผ่านการบำบัดเป็นเวลานานกว่า 30 ปี จึงนำเรื่องนี้ไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนครนครราชสีมาแต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้มากจนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงได้แต่งตั้งนายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาให้มาดูแลเรื่องการใช้ที่ดิน สปก. ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ตนมีโอกาสได้ร่วมงานกันจึงเป็นที่มาของ การจับกุมเจ้าหน้าที่ สปก.ทุจริตเอื้อประโยชน์นายทุนเป็นข่าวดังไปทั้งประเทศ และมีปฏิบัติการเฟสสองอีกห้ารายตามมาเร็วๆ นี้ ตนขอเปิดใจว่าสิ่งที่ตนทำเพื่อชาติและประชาชนเรื่อยมานั้นได้รับการสั่งสอนมาจากท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรี ท่านสั่งสอนและปลูกฝังจิตสำนึกให้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศชาติ ใช้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาของ สปก. ตนมานึกขึ้นได้ว่ามี พรบ.การปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ประกาศใช้โดยท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตนจึงภูมิใจที่ได้มีโอกาสมาทำในสิ่งที่ท่านได้วางกฎระเบียบเกี่ยวกับ สปก. เปรียบเสมือนฟ้าลิขิตให้ตนต้องมาทำงานในเรื่องนี้และเป็นแรงบันดาลใจที่จะต้องทำเรื่องที่ดิน สปก. ให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่ท่านได้วางไว้ทุกประการ หากพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนต่อสู้กับอำนาจรัฐจะปรึกษาคดีก็สามารถติดต่อได้ที่ โทร.085-3399255 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง